BKK EXPO 2024

นับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว จนถึงปีนี้ ถือเป็น 1 ปี ที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจกับความก้าวหน้าของอัตลักษณ์เมืองกรุงกันอย่างหนาแน่น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นระลอก ๆ ตั้งแต่การเปิดเผยชุดกราฟิกทั้งหมดในรูปแบบของผลงานการสร้างสรรค์ของทีม ‘Farmgroup’ บนช่องทาง Facebook และ Instagram ที่ทำให้ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกับอัตลักษณ์ใหม่ของเมืองที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน

จนมาถึงช่วงกลางปีนี้ที่สิ่งนี้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง จากประเด็นป้าย ‘กรุงเทพฯ – Bangkok’ บริเวณ Skywalk แยกปทุมวัน ที่ทำให้สายตาทุกคู่เริ่มจับจ้อง และกลายเป็นการตั้งคำถามอย่างสนอกสนใจเป็นเรื่องเป็นราว จนขนาดแฟนงานกราฟิกอย่างเรายังทึ่งกับแรงกระเพื่อมของสิ่งเล็ก ๆ นี้ต่อสังคมในวงกว้างสุดลูกหูลูกตา ที่ทำให้เราได้เห็นถึงคนที่ทั้งเข้าใจ และไม่เข้าใจสิ่งนี้อีกมากมาย

ในงาน ‘BKK EXPO 2024’ ที่ผ่านมา ก็มีพื้นที่หนึ่งที่เปิดเป็นจุดให้ผู้คนมาร่วมเสวนาในหัวข้อที่หลากหลาย และนั่นเองจึงเกิดเป็นเวทีของ ‘การบอกเล่า’ ผลงานนี้ได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะมากที่สุดเท่าที่เราเคยรับฟังมา เพราะเป็นเวทีของกรุงเทพฯ เล่าเรื่อง CI กรุงเทพฯ และเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมมาร่วมแชร์แนวคิด และแชร์ประสบการณ์ในสายงานกราฟิกของตัวเองร่วมกัน

บนเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘CI องค์กร จำเป็นหรือไม่’ ซึ่งมี Speaker หลากหลายท่าน ทั้ง ‘วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ’ ผู้ออกแบบ CI กทม. จาก Farmgroup, ‘วีร์ วีร์พร’ นักออกแบบกราฟิกจาก Conscious Studio และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ‘วริทธิ์ธร สุขสบาย’ คณะทำงาน CI กทม., ‘สยาม อัตตะริยะ’ Design Director ของ Pink Blue Black & Orange และ ‘สุพิชาน โรจน์วณิชย์’ Art Director ของ LAYER LAYER & HEREODD STUDIO มาสะท้อนมุมมองให้เราได้ฟังกัน หวังว่าบทความนี้อาจช่วยขยายมุมมองความรับรู้ในเรื่องราวนี้เพิ่มเติมได้บ้างไม่มากก็น้อย

(จากซ้ายไปขวา) คุณวริทธิ์ธร สุขสบาย, คุณสุพิชาน โรจน์วณิชย์, คุณสยาม อัตตะริยะ, คุณวีร์ วีร์พร, คุณวรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และคุณพิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้ดำเนินการเสวนา

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Corporate Identity กรุงเทพมหานคร

คุณวริทธิ์ธรเปิดบทสนทนาบนเวทีด้วยเหตุผลของการเกิดขึ้นของโปรเจกต์นี้

CI กทม. ถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลของความเป็นเอกภาพ เวลามีงานสื่อสารออกไปผ่านสีแบบนี้ ฟอนต์แบบนี้ แพตเทิร์นแบบนี้เหมือนกัน ๆ จะทำให้คนดูรู้ว่าเป็นงานที่ออกมาจาก ‘กรุงเทพมหานคร’

หลังจากมีไอเดียนี้เกิดขึ้น จึงต้องเกิด ‘คณะทำงาน’ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวนี้อย่างจริงจังจนจบกระบวนการ โดยบนเวทีนี้มีคณะทำงาน CI กทม. 3 คน นั่นคือคุณวีร์ คุณสยาม และคุณสุพิชาน ซึ่งต่างก็มีความเป็น ‘นักออกแบบ’ เหมือน ๆ กัน

คุณวริทธิ์ธร สุขสบาย – คณะทำงาน CI กทม.

หน้าที่หลักสำคัญของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในโปรเจกต์นี้ในขั้นต้นเลยคือ การโน้มน้าวหัวใจของคนทำงาน กทม. ให้เข้าใจความสำคัญของสิ่งนี้อย่างถ่องแท้ ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควร จึงส่งผลให้งบประมาณในการทำงานตรงนี้อาจจะดูไม่มากมายนัก เทียบกับงบประมาณที่อนุมัติให้กับโปรเจกต์อื่น ๆ ของ กทม.

เมื่อเกิดการอนุมัติ สิ่งต่อไปที่คณะทำงานต้องทำคือการกำหนด ‘TOR’ หรือ ‘Terms of Reference’ ที่หมายถึงเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียดการทำงานแบบรอบด้าน ที่ในโปรเจกต์นี้กำหนดผู้ถูกว่าจ้างไว้เลยว่าต้องเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลระดับชาติหรือนานาชาติมาก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนผู้เสียภาษีว่าจะทำงานคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์

ทางฝั่งคุณวีร์กล่าวเสริมในมุมมองของคณะทำงาน ในฐานะที่ปรึกษาด้านคนทำงานกราฟิก สิ่งที่เขาเข้ามาทำเป็นอันดับแรกเลยคือการปรับ TOR เดิม จากโปรเจกต์การทำ CI กทม. ของผู้ว่าฯ สมัยก่อนหน้าอย่าง ‘อัศวิน ขวัญเมือง’ ที่ได้มีการกำหนดขอบเขตการทำงานไว้ก่อนแล้ว แต่เมื่อลงมาดูในบางรายละเอียด พบว่ารูปแบบของ TOR มันแปลกและไม่ Make Sense ในการทำงานจริงหลายแง่มุม

ตัวอย่างที่เห็นภาพเลยคือมีการกำหนดว่าเมื่อ CI กทม. สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว จะต้องมีการเผยแพร่สู่ประชาชนในรูปแบบคลิปวิดีโอ ผ่าน Influencer ที่มีชื่อเสียง ที่ต้องมียอดผู้ติดตามไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ อีกทั้งสิ่งนี้ยังกลายเป็นการวัดผลว่าคลิปวิดีโอโปรโมต CI กทม. นี้ ต้องได้ยอดผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่ายอดที่กำหนดไว้อีกด้วย

คุณวีร์ วีร์พร – นักออกแบบกราฟิกจาก Conscious Studio และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในมุมของคุณสยาม ที่แต่แรกวางตัวเองไว้ในฐานะหนึ่งในผู้สนใจเข้าร่วมทำงานนี้เหมือนกัน แต่หลังจากเห็น TOR เดิมของ กทม. เห็นแผนการทำงานแสนละเอียดว่าก่อนจะเริ่มออกแบบได้ ต้องทำ Research กับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมหาศาล และเห็นระยะเวลาการทำงานที่ไม่เพียงพอต่อการทำสิ่งนั้น เขาเลยขอเปลี่ยนแว่นจากผู้ร่วมเสนองาน เป็นผู้ให้คำปรึกษากับเรื่องนี้ดีกว่า ขอบเขตการจ้างงานจะได้ไม่เละเทะไปมากกว่านี้

และในอีก 2 วัน ก่อนที่งานนี้จะปิดรับผู้เข้าเสนองาน คุณวรทิตย์เล่าว่าคุณสุพิชานต่อสายตรงมาหาเขาเพื่อบอกว่าให้ลองส่งเข้าร่วมประกวดดู เขาจึงใช้เวลา 2 วันนั้นในการศึกษา TOR และร่างโครงแนวคิดเพื่อนำเสนอ และก็ได้คว้างานนี้มาครอบครอง

แต่ก่อนที่คุณวรทิตย์และทีม Farmgroup จะได้ทำงานอย่างที่ตัวเองอยากทำ เขาและทีมจำเป็นต้อง Research อย่างหนัก เพื่อให้ความเป็นไปได้ทั้งหมดที่ลอยอยู่ในอากาศแคบลงจนมองเห็นจุดแข็งที่นำไปพัฒนาเป็นเนื้องานต่อได้

จึงเกิดเป็นงานวิจัยค้นคว้าขนาดย่อมที่เขาและทาง ‘Nikkei Research & Consulting ประเทศไทย’ มาช่วยทำ Research ร่วมกันในหลากหลายประเด็นทั้งการรับรู้ภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ความคิดเห็นต่ออัตลักษณ์ในรูปแบบเดิม พฤติกรรมการบริโภคสื่อ หรือการมองจุดอ่อน-จุดแข็งของกรุงเทพฯ ผ่านกลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณ 2,128 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างประชาชน 1,500 ตัวอย่างจากทั้ง 50 เขตพื้นที่การปกครอง

และกลุ่มตัวอย่างเชิงคุณภาพในรูปแบบ Focus Group อีก 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร, หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ติดต่อประสานงานกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ติดต่อประสานงานกับกรุงเทพมหานคร

ซึ่งทำให้ได้คำตอบมวลรวมที่น่าสนใจในหลายเรื่อง ทั้งการที่กลุ่มตัวอย่างมองว่า กทม. มีภาพลักษณ์เรื่อง ‘ความทันสมัย’ ค่อนข้างเด่นชัด หรือในแง่ของความเป็นองค์กร กทม. มีภาพลักษณ์ของการ ‘ให้บริการที่ดี’ และ ‘มีเทคโนโลยีทันสมัย’ เป็นส่วนสำคัญ หรืออย่างประเด็นตราสัญลักษณ์กรุงเทพฯ ที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นตราสัญลักษณ์ที่ผู้คนจดจำได้อย่างแม่นยำ แต่ขาดความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับคนยุคนี้

คุณวรทิตย์ เครือวาณิชกิจ – ผู้ออกแบบ CI กทม. จาก Farmgroup

หลังจากการ Research และออกแบบร่วม 4 เดือน ผลงานทั้งหมดก็ถูกนำเสนอในฐานะของงาน Mock up ก่อนในระยะแรก ซึ่งทำให้เห็นความเป็นไปได้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการหยิบตัวกราฟิกของ CI  กทม. ไปทำเป็นลายขวดน้ำ ลายเนคไท นามบัตร ถุงผ้า กระเป๋า หมวก เสื้อผ้า สิ่งพิมพ์ สื่อประชาสัมพันธ์ สติ๊กเกอร์ติดรถขนส่งมวลชน เทมเพลตสำหรับงานกราฟิก และอีกมากมาย

คุณวริทธิ์ธรกล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่าจริง ๆ สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ถูกขยายผลมาเป็นของจริงแล้วบ้างบางส่วน แน่นอนที่สุดเลยคือการหยิบเอาตัวกราฟิกมาเป็นงานสื่อสารบนช่องทาง Facebook หรือป้ายโฆษณาริมทาง หรืออย่างลายเสื้อที่หยิบเอา Signature Graphic ‘วัชระ’ มาออกแบบ ก็ถูกผลิตจริงเพื่อให้พี่ ๆ บุคลากรได้ใส่ภายในงาน และในอนาคตก็อาจจะมีการทำเป็น Merchandise จริงจังต่อไป

นัยหนึ่งการที่ผู้คนยอมรับกับการหยิบหน้าตาของเมืองไปใช้ในชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นกระเป๋าผ้าไปตลาด หรือถูกเอาไปทำเป็นลายเสื้อแฟชั่นที่ไม่ว่าใครก็ใส่กันทั่วบ้านทั่วเมืองได้ ก็ทำให้หน้าตาขององค์กรที่ชื่อว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ ไม่ได้ดูห่างไกลกับประชาชนมากเกินไปนัก

ความเข้าใจผิดหลากหลายเรื่องของ CI กทม.

คุณสยามเปิดประเด็นของความเข้าใจที่ค่อนข้างคลาดเคลื่อน เรื่องความทับซ้อนจะเหมือนเป็นเรื่องเดียวกันของ ‘Corporate Identity’ และ ‘City Branding’ ซึ่งจริง ๆ แล้วมีจุดประสงค์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

‘Corporate Identity’ เน้นหนักไปยังการนำเสนอเพื่อการรับรู้ทางสายตา เพื่อสะท้อนกลับมายังความเข้าใจเดียว ๆ กันว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่นี้มันเชื่อมโยงกับอะไร อย่างในกรณีของ CI กทม. ที่กำหนดสี ฟอนต์ หรือการใช้งานให้เป็นระบบก็เพื่อทำให้คนที่มองเห็นรับรู้ว่างานนี้เป็นของ กทม.

แตกต่างจาก ‘City Branding’ ซึ่งมีความเป็นเกี่ยวพันกับป้าย ‘กรุงเทพฯ… ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ ที่เน้นหนักไปยังการนำเสนอเพื่อการรับรู้ทางความรู้สึก ผ่านชุดคำ หรือแคมเปญบางอย่างที่ทำขึ้นเพื่อครอบรูปแบบความคิดให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่ผู้จัดทำต้องการ

คุณสยาม อัตตะริยะ – Design Director ของ Pink Blue Black & Orange

อีกเรื่องที่น่าสนใจของการทำงานนี้ที่คุณสยามเสนอประเด็นบนเวที คือเรื่องของความเข้าใจเรื่อง ‘Free Phishing’ ที่นิยมทำกันทั่วไป อย่างการเปิดโปรเจกต์อะไรสักอย่าง แล้วให้คนเสนอไอเดียมาหลาย ๆ แบบแข่งขันกัน แล้วค่อยมาเลือกอันที่ดีที่สุดไปทำต่อแค่ไอเดียเดียวจากคนกลุ่มเดียว ส่วนคนกลุ่มที่เหลือก็ตบบ่าขอบคุณกันไป มันคือการเอาเปรียบคนทำงานที่ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้ไปถูกปัดทิ้งอยู่เสมอ

ลองคิดดูว่าหากมีบริษัทหนึ่งที่รับงาน Free Phishing 10 เจ้า แล้วชวดทั้ง 10 เจ้า บริษัทที่พาคนทำงานไป Phishing จะต้องเสียอะไรไปมากเท่าไหร่บ้าง ในประเด็นนี้เขาจึงเสนอมุมมองให้คนทำงานในไทยปรับความคิดเสียใหม่ ว่าการว่าจ้างงานแบบ Free Phishing นั้นคือสิ่งที่ควรเป็นปกติในบ้านเราแล้วหรือ

กับอีกเรื่องคือประเด็น 3 ล้านบาท ที่ผู้คนมักมองด้วยอคติ และตีขลุมว่ามูลค่านี้คือค่าใช้จ่ายในการออกแบบป้ายกลางกรุงบน Skywalk เพียงป้ายเดียว แท้จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะ 3 ล้านบาทนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องถูกแบ่งไปยังบริษัทที่รับทำ Survey ทั้งหมดก่อนเริ่มงาน และส่วนที่เหลือถึงจะมาเป็นเงินค่าดำเนินงานในทุกองค์ประกอบของทางผู้จัดทำ

ซึ่งอาจจะดูเยอะอยู่ดี แต่หากว่ากันจริง ๆ ตามการว่าจ้างบริษัทรับออกแบบอัตลักษณ์ระดับประเทศ ในมุมมองของคุณสยามแล้ว มูลค่านี้ย่อมเยาเสียเหลือเกิน ซึ่งนี่ก็อาจแสดงถึงระดับการให้ความสำคัญทางความคิดสร้างสรรค์ด้านงานออกแบบที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอในความเป็นองค์รวม หากในอนาคตผู้คนในประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งนี้ควรค่าแก่การลงทุน ผู้ออกแบบก็ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนลงแรงทางความคิดเสร้างสรรค์ สิ่งนี้ก็จะยิ่งโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้อีกไกล

อย่างไรก็ตามตลอดการเสวนาในวันนี้ เรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือประเด็นของป้าย ‘กรุงเทพฯ – Bangkok’ ที่ร้อนแรงเหลือเกินในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ในมุมมองของคนทำงานจริง ๆ ที่กล่าวบนเวที พวกเขาไม่ได้มองเรื่องของเสียงก่นด่ามากเท่าไหร่นัก พวกเขากลับมองว่านี่ถือเป็นโอกาสอันดีต่างหากที่วงการนักสร้างสรรค์งานรูปแบบนี้จะถูกสังคมไทยมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง

คุณสุพิชาน โรจน์วณิชย์ – Art Director ของ LAYER LAYER & HEREODD STUDIO

คุณสุพิชานเสริมในประเด็นนี้ว่าความคิดเห็นเหล่านี้ช่วยยกระดับงานออกแบบในประเทศไทยให้สูงขึ้นไปอีกระดับ ทั้งในแง่ความเข้าใจร่วมกัน และอาจจะขยายผลไปสู่การถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจังขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย

ก่อนจบการเสวนา คุณวรทิตย์ทิ้งท้ายกับคนดูทั้งในอาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ และคนดูใน Facebook Live สั้น ๆ ว่า “ขอขอบคุณคำติชมทุกคำ แล้วก็อยากให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วย ไม่อยากจะให้รีบตัดสินอะไรกันแค่นั้นเอง” ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าใจกันไป

เรานึกถึงหลักข้อหนึ่งคือ ‘Normal close, normal open’ ที่หมายถึงสถานการณ์หนึ่งที่ประตูปกติทั่วไปบานหนึ่งถูกปิดอยู่ และไม่เคยมีใครสนใจมัน จนกระทั่งมีใครสักคนไปเริ่มเปิดมัน คนจะรู้สึกว่าสิ่งนี้ผิดปกติทันที แต่ก็นั่นแหละ ประเดี๋ยวประด๋าวพวกเขาก็จะรู้สึกว่าประตูนี้มันเปิดจนกลายเป็นความปกติใหม่ไปแล้วนั่นเอง

สามารถรับชมการเสวนาครั้งนี้เต็ม ๆ ได้ ที่วิดีโอด้านล่างนี้เลย

https://www.facebook.com/bangkokbma/videos/751023013657208

CREATED BY

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป